สาหร่ายสไปรูลิน่า เพื่อ ปลา สวยงาม มีโปรตีนสูง
ในสภาวการณ์ของโลกปัจุบันในแต่ละประเทศได้มีการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมีการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือเรื่องเกษตรกร โดยการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ นั้น ทำให้เกิดสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เสื่อมโทรม ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ขาดแคลนพลังงาน แหล่งอาหารของมนุษย์โดยเฉพาะ แหล่งอาหารประเภท โปรตีน ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้มีการศึกษาค้นคว้าหาแหล่งอาหารโปรตีน จนกระทั่งได้ศึกษาพบว่ามีสาหร่ายชนิดหนึ่ง เป็นสาหร่าย สีเขียวแกมน้ำเงินมีโปรตีนสูงถึง 64-72% ของน้ำหนักแห้ง กรดอมิโน วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ ในอัตราส่วน ที่เหมาะสมกับความต้องการของมนุษย์
สาหร่ายสไปรูลิน่าหรือสาหร่ายเกลียวทอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Spirulina platensis เป็นชนิดของสาหร่ายสีเขียว แกมน้ำเงิน พบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย และน้ำเค็ม แต่ส่วนมากจะพบในน้ำจืด มีคลอโรฟีลล์ช่วยในการสังเคราะห์แสง ลักษณะเส้นสายที่เป็นเกลียว เจริญได้ทั้งในน้ำสะอาดและน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย จากแหล่งธรรมชาติ ที่ผ่านมามีเอกชนหลายราย ทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองเพื่อใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีนสำหรับมนุษย์ ทั้งนี้จะต้องเพาะเลี้ยงสาหร่ายด้วยน้ำที่สะอาด ปลอดภัย อาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงมักใช้อาหารอนินทรีย์หลายชนิด บางชนิดมีราคาแพงและหายาก ต้องระมัดระวังสิ่งเจือปน ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ราคาจำหน่ายค่อนข้างแพง จะมีบ้างที่ทดลองนำไปเลี้ยงสัตว์ แต่ยังไม่กว้างขวางมากนัก
ขณะเดียวกันภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ และภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการศึกษาเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า ทั้งใช้เป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะเป็นอาหารปลาสวยงามซึ่งประสพ ผลสำเร็จและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติให้พร้อมที่ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการ ผลิตสาหร่ายแก่ชุมชนระดับพื้นบ้าน จนถึงการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขนาดย่อมในอนาคต โดยมี คณะทำงาน ประกอบด้วย รศ.เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร ผศ.ดร.นิวุฒิ หวังชัย นายจงกล พรมยะ คุณเจียมจิตต์ บุญสมเป็นผู้ควบคุมดูแลตรวสอบให้คำแนะนำ
สำหรับผลการวิจัยการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าในน้ำเสียที่ความเข้มข้น 20% ผสมกับสารเคมีบางชนิด ทำการเพาะเลี้ยง 15-20 วัน เก็บผลผลิตน้ำหนักแห้งได้ 0.5-1 กรัม/น้ำ 1 ลิตร เมื่อนำไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่ามีโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เถ้า ความชื้นและแคโรทีน เรียกได้ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการมากเพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีนมีปริมาณใกล้เคียง กับปลาป่น ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ นำไปศึกษาในการเลี้ยงปลาทองโดยใช้สูตรที่ 1 อาหารผสมที่มีปลาป่น เป็นองค์ประกอบโปรตีน 30% สูตร 2 ใช้อาหารผสมสาหร่าย 15% ทดแทนปลาป่นที่มีโปรตีน 30% สูตรที่ 3 ใช้สาหร่าย 100% มีโปรตีน 54.66% พบว่าอาหารเลี้ยงปลาทองสูตรที่ 2 และ 3 มีอัตราการรอดตายและสีของปลาสวยงามกว่าสูตรที่ 1 ดังนั้นทางคณะวิจัยจึงได้มีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาสาหร่ายสไปรูลิน่าระดับพื้นบ้านเพื่อเป็นอาหารปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลาทองและปลาคาร์ฟ และผลิตเป็นอาหารเม็ดโปรตีน 30% ซึ่งมีส่วนผสมของสาหร่าย กากถั่วเหลือง รำละเอียด ปลายข้าว วิตามิน ทำการวิจัยสูตรอาหารพบว่าปลาสวยงามเจริญเติบโตและมีสีที่สดใสเนื่องจากได้รับสาหร่ายสไปรูลิน่า
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงสาหร่าย การเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถใช้น้ำ ได้หลายแห่ง เช่น น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำเสียบ่อก๊าซชีวภาพ จากมูลสัตว์ น้ำเสียจากฟาร์มสุกร น้ำกากส่าเหล้า น้ำทิ้ง จากโรงงาน ฯลฯ การเพาะเลี้ยงจะต้องปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อแยกเชื้อสาหร่ายเพียงชนิดเดียว ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไม่ให้มีสาหร่ายมาเพาะบนอาหารแข็ง ทำให้ตู้ปลอดเชื้อและนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ จนกระทั่งเห็น กลุ่มเซลล์สาหร่าย จึงย้ายเชื้อและให้เหลือเพียงชนิดเดียว เมื่อได้สาหร่ายชนิดเดียวแล้วย้ายไปเลี้ยงในอาหารเหลว ประมาณ 5-7 วัน เลี้ยงจนโตและย้ายภาชนะบรรจุให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ จากนั้นจึงนำไปขยายปริมาณโดยไม่ต้องควบคุมแสงและอุณหภูมิ
ขั้นตอนการเพาะกลางแจ้ง การเพาะสาหร่ายอาจมีการเพาะในบ่อซีเมนต์กลม หรือบ่อเพาะแบบแฝด ภาชนะที่ใช้ขึ้นอยู่กับ วัตถุประสงค์ ซึ่งภาชนะที่ใช้ด้านในจะต้องขัดเรียบ เนื่องจากสาเหร่ายเกาะแล้วจะทำความสะอาดยาก อาจจะขุดดินแล้วปูด้วย พลาสติก สิ่งสำคัญบ่อเลี้ยงควรมีความสูงไม่เกิน 40-50 เซนติเมตร เนื่องจากความสูงของอาหารไม่เกิน 20-25 เซนติเมตร สาหร่ายจะได้รับแสงง่ายและทั่วถึง จากนั้นต้องเตรียมอุปกรณ์ ดังนี้ เชื้อสาหร่าย แหล่งน้ำเสีย ถังประปา หรือน้ำสะอาด ถังน้ำ บ่อเพาะเลี้ยงสาหร่าย ผ้าขาวบางในการกรองเก็บสาหร่าย ระบบลม หรือเครื่องตีน้ำ ระบบไฟฟ้า สารเคมีบางชนิด เมื่อเตรียม อุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มนำน้ำเสียมาพักให้ตกตะกอนประมาณ 1 อาทิตย์ หรืออาจนำมูลสัตว์ผสมกับน้ำประปาในอัตราส่วน 1 ต่อ 5 ทิ้งไว้ 20 วัน นำน้ำหมักมากรองผ่านผ้าขาวบางแล้วนำไปต้มเพื่อใช้เป็นอาหารของสาหร่าย นำน้ำเติมในบ่อเพาะเลี้ยง เติมธาตุอาหาร นำหัวเชื้อสาหร่ายเติมลงไปในบ่อเลี้ยงในอัตรา 30% ของน้ำในบ่อ หากน้ำในบ่อเลี้ยงมีปริมาณ 100 ลิตร จะใช้เชื้อประมาณ 10 ลิตร จากนั้นเติมอากาศ ใช้เวลาประมาณ 20 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว
ขั้นตอนการปฏิบัติทั่วไป บ่อเพาะเลี้ยงควรตั้งอยู่ในแสงแดดรำไร อาจใช้ไม้พายกวนวันละ 4 ครั้งๆ ละ 15 นาที หรือต้องการ ให้ได้ผลผลิตเร็ว อาจใช้มอเตอร์ต่อสายยางปั๊มอากาศ เพื่อเป็นการเติมอากาศให้สาหร่าย คอยหมั่นตรวจสอบสภาพบ่อว่ามี สาหร่ายชนิดอื่นปนเปื้อนหรือไม่ เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 20 วัน สังเกตสีของน้ำเสียที่เปลี่ยนแปลงจากเริ่มต้น สีจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา ให้สาหร่ายในบ่อมีสีเขียวเข้มมากที่สุด จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ การเก็บจะต้องตักเบาๆ อย่าให้ ตะกอนของเสียที่อยู่ก้นบ่อกระจายขึ้นมา ผ่านผ้าขาวกรองซ้อนกันประมาณ 5 ชั้น นำสาหร่ายที่อยู่บนผ้ากรองไปตากกลางแจ้ง ที่มีแดดจัด เมื่อแห้งแล้วจึงนำสาหร่ายมาบดหรือใส่ภาชนะเพื่อเตรียมผสมกับอาหารสัตว์ หรือใช้สาหร่ายสดที่เก็บครั้งแรก ผสมในอาหารสัตว์ได้เลย แต่ไม่ควรเกิน 20% ในสูตรสำหรับอาหารสัตว์น้ำ สำหรับน้ำที่เหลือยังสามารถเพาะเลี้ยง สาหร่ายต่อได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง จึงเปลี่ยนน้ำเพาะเลี้ยงใหม่
ประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลิน่า ทั้งในรูปแช่แข็ง และผง มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนมาก เนื่องจากมี ขนาดเล็กและย่อยง่าย ทำให้การเจริญเติบโตสูง ปลาเจริญถึงระยะเจริญพันธุ์เร็วขึ้น ช่วยเสริมการพัฒนาของไข่ และน้ำเชื้อ ช่วยเร่งสีของปลาเพิ่มมากขึ้น ปริมาณที่เหมาะสมในการผสมในอาหารสำหรับปลาเพื่อการเจริญเติบโต 10-25% ทดลอง ใช้เลี้ยงปลาเรนโบว์เทราท์ ผลปรากฏว่าเนื้อปลามีสีน้ำตาลแกมเหลือง สาหร่ายชนิดนี้นับว่าเป็นสารเร่งสีที่ให้ความเข้ม ของปลาแฟนซ์คาร์ฟดีที่สุด หากต้องการให้เป็นสีแดงเข้ม ต้องใช้สาหร่ายชนิดผงในปริมาณ 15% ของอาหารทั้งหมด โดยทดแทนลงไปในโปรตีนจากปลาป่น ระยะเวลาเลี้ยงอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสไปรูลิน่ายังใช้เลี้ยงปลา ทั่วไปแล้วยังใช้เลียงปลาหมึก ปู หอย กุ้งสด ได้ดีอีกด้วย
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 7 มกราคม 2547 หน้า 14
- ราคา สาหร่าย สไปรูลิน่า ( เกลียวทอง ) จาก นภากุล
- คุณค่าของ สาหร่าย สไปรูลิน่า ( เกลียวทอง )
- ประโยชน์ของ สาหร่าย สไปรูลิน่า ( เกลียวทอง ) ที่มีต่อร่างกาย
- สาหร่ายสไปรูลินา การเพาะเลี้ยง และ ผลิตภัณฑ์ |